รอบรู้เรื่องปัสสาวะขัด ปัญหาสุขภาพที่มักเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

รอบรู้เรื่องปัสสาวะขัด ปัญหาสุขภาพที่มักเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

โรคปัสสาวะขัดถือเป็นหนึ่งในโรคที่มักเกิดกับคนทำงานออฟฟิศหรือผู้ที่มักนั่งทำงานเป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้ลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ มักกลั้นปัสสาวะ จนทำให้ติดเป็นนิสัย และส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะขัดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้จึงอยากชวนให้ทุกคนมาทำความเข้าใจกับอาการปัสสาวะขัดให้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที

ปัสสาวะขัดคืออะไร

ปัสสาวะขัด หรือ Dysuria คืออาการเจ็บปวดหรือปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการระคายเคืองหรือการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อบริเวณทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หรือบริเวณใกล้กับอวัยวะเพศ

อาการของปัสสาวะขัด

ในส่วนของอาการปัสสาวะขัดจะมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับสาเหตุหรือตำแหน่งของโรค สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1.กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ Cystitis จะมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะออกทีละน้อย ปัสสาวะมีกลิ่นแรง สีขุ่น หรือเป็นเลือด และมีอาการเจ็บที่ท้องน้อยบริเวณใกล้กระเพาะปัสสาวะ

2.กรวยไตอักเสบ หรือ Pyelonephritis จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลังส่วนบน ปัสสาวะขุ่น และปัสสาวะบ่อย

3.ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือ Urethritis จะมีอาการปัสสาวะบ่อย มีตกขาวหรือของเหลวออกจากท่อปัสสาวะ และส่วนปลายของท่อปัสสาวะเกิดรอยแดง

4.ช่องคลอดอักเสบ หรือ Vaginitis จะมีอาการเจ็บหรือคันที่อวัยวะเพศ มักเจ็บในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีสีคล้ำหรือสีอื่น และมีในปริมาณที่มากกว่าปกติ พร้อมทั้งมีกลิ่นเหม็น

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัด

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดซึ่งพบได้บ่อยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

1.จากการติดเชื้อ สามารถแยกได้ตามโรคหรืออาการดังนี้ คือ

– โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ UTI

– ท่อปัสสาวะอักเสบ Urethritis

– ช่องคลอดอักเสบ Vaginitis

2.จากการอักเสบหรือการระคายเคือง สามารถแยกจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

1.เกิดจากการระคายเคืองจากการมีเพศสัมพันธ์

2.กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบเรื้อรัง

3.มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

4.ช่องคลอดเกิดการตอบสนองหรือระคายเคืองจากสบู่อาบน้ำที่ใช้หรือผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดที่มีสารฆ่าอสุจิ

5.เกิดการเปลี่ยนแปลงของช่องคลอด ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัยหมดประจำเดือน

6.เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ

7.ผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด

8.เกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ปั่นจักรยาน ขี่ม้า เป็นต้น

การวินิจฉัยปัสสาวะขัด

การวินิจฉัยปัสสาวะขัดนั้น ผู้ป่วยสามารถสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง หากมีอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

1.มีอาการเจ็บปวดเวลาปัสสาวะ

2.มีเลือดปนกับปัสสาวะ

3.มีของเหลวหรือตกขาวออกมาจากอวัยวะเพศ

4.ปวดหลังหรือเจ็บเอว

5.เคยมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือนิ่วในไต

6.มีไข้

7.ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ หากมีอาการเจ็บปวดเวลาปัสสาวะ ควรรีบพบแพทย์แต่โดยด่วน

การวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับการวินิจฉัยปัสสาวะขัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะเริ่มโดยการสอบถามประวัติ อาการต่างๆ พร้อมทั้งตรวจร่างกาย และบางกรณีอาจมีการตรวจเพิ่มเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างตรงจุด จากนั้นจะมีการถามคำถามดังต่อไปนี้ เพื่อใช้ประกอบพิจารณาหาสาเหตุต่อไป

1.ลักษณะการเกิดขึ้นของอาการ เช่น เกิดขึ้นทันทีหรืออาการค่อยๆ เป็น

2.มีอาการบ่อยแค่ไหน

3.เกิดความเจ็บปวดตั้งแต่เริ่มปัสสาวะหรือไม่

4.ตรวจเลือดเพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อใดๆ หรือไม่

5.ตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย เลือด หนอง หนองใน หนองในเทียม หรือเริม

6.ตรวจกระเพาะปัสสาวะด้วยการใช้กล้องส่องเพื่อหาปัญหาที่เกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ

7.ทำอัลตราซาวด์เพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น โดยดูภาพกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย

การรักษาปัสสาวะขัด

การรักษาปัสสาวะขัด จะมีการแบ่งรักษาตามสาเหตุและตามอาการดังนี้

1.การรักษาตามสาเหตุ ได้แก่

– กระเพาะปัสสาวะอักเสบและกรวยไตอักเสบ จะรักษาด้วยการให้กินยาปฏิชีวนะ หากผู้ป่วยมีอาการกรวยไตอักเสบรุนแรง จะรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด

– ท่อปัสสาวะอักเสบ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาตามสาเหตุของการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นหนองใน หนองในเทียม หรือคลามัยเดีย

– ช่องคลอดอักเสบ แพทย์อาจมีการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเชื้อรา แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อรา โดยยาต้านจะมีทั้งแบบกิน ยาเหน็บ และแบบครีม

2.การรักษาตามอาการ ได้แก่

– หมั่นดื่มน้ำให้มากๆ ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ

– บรรเทาอาการเจ็บปวดด้วยยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน

– ใช้ยาปรับสภาพปัสสาวะให้เป็นด่าง หรือที่เรียกว่า Urine Alkalinizing Medication

ภาวะแทรกซ้อนของปัสสาวะขัด

ภาวะแทรกซ้อนของปัสสาวะขัดอาจเกิดขึ้นได้จากการได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.ผู้หญิงที่เคยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 3 ครั้งขึ้นไป มีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ

2.หญิงตั้งครรภ์อาจเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด หรือส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์

3.ผู้ชายที่มีอาการท่อปัสสาวะอักเสบซ้ำ อาจส่งผลให้ท่อปัสสาวะตีบตัน

4.เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด

5.เกิดการติดเชื้อโดยลามจากทางเดินปัสสาวะไปที่ไต ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต

6.เกิดความเสียหายที่ไตอย่างถาวร จากการที่กรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง

การป้องกันปัสสาวะขัด

ในส่วนของการป้องกันปัสสาวะขัดสามารถทำได้หลากหลายวิธีดังนี้

1.ห้ามให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำมากๆ เพราะจะช่วยลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเวลาปัสสาวะ และยังช่วยเจือจางแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ จึงทำให้ขับออกได้ง่าย

2.ห้ามกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน

3.เมื่อผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยาไอบูโพรเฟน

4.ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะขัดจากสาเหตุโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ต้องกินยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งจนครบ เพื่อให้เชื้อถูกกำจัดออกจนหมด

5.สำหรับผู้หญิงทุกคน ควรเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังทุกครั้งหลังขับถ่าย และควรปัสสาวะให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อเป็นการขับแบคทีเรียออก จะช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ

ทั้งนี้การป้องกันปัสสาวะขัดถือเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจให้มากๆ โดยเฉพาะการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพราะไม่เพียงแต่เป็นการป้องกันได้ดีเท่านั้น เนื่องจากการดื่มน้ำให้มาก ยังเป็นหนึ่งในการรักษาที่ช่วยได้มาก และยังสามารถทำได้ง่ายอีกด้วย