โรคไฟลามทุ่ง คืออะไร อันตรายไหม เป็นแล้วต้องรักษาอย่างไร

โรคไฟลามทุ่ง คืออะไร อันตรายไหม เป็นแล้วต้องรักษาอย่างไร

โรคไฟลามทุ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ อย่างเช่น ในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ ซึ่งลักษณะของโรคนี้ที่เป็นจุดเด่นก็คือ จะมีผื่นขนาดใหญ่สีแดงสด โดยมีอาการปวด บวม และร้อนร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุของโรคนี้คืออะไร เป็นแล้วรักษาอย่างไรบ้าง มีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้เป็นโรคนี้ สามารถดูได้ในบทความนี้ค่ะ

โรคไฟลามทุ่ง คืออะไร

เมื่อพูดถึงโรคไฟลามทุ่ง หลายคนก็อาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าโรคนี้คือ อะไร ซึ่งโรคนี้เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นสีแดง มีขอบนูนที่มองเห็นเป็นชั้นแยกออกจากผิวหนังปกติอย่างชัดเจน มีอาการบวม แข็งตึง และปวด เมื่อสัมผัสกับผิวบริเวณที่เป็นผื่นจะพบว่ามีความร้อนมากกว่าผิวปกติ ซึ่งผื่นที่เกิดขึ้นนี้จะลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่นหรือมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีชื่อเรียกว่าไฟลามทุ่ง บางรายอาจมีผิวที่มีลักษณะคล้ายเปลือกส้มรวมทั้งมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ทำให้มองเห็นเป็นรอยจ้ำเขียว หากเป็นมากจะมีหนองหรือเนื้อเยื่อพุพอง หรือมีเนื้อตายบางส่วน

ส่วนอาการที่พบร่วมด้วยกับการเป็นผื่นบนผิวหนังก็คือ มีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว โดยจะมีอาการไข้สูงรุนแรง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มักพบอาการดังกล่าวภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากที่เป็นผื่นแล้ว

สาเหตุของโรคไฟลามทุ่ง

การเกิดโรคหรือผื่นไฟลามทุ่งนี้มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียเบตา เฮโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ที่โดยปกติแล้วเชื้อนี้จะอยู่บนผิวหนังของคนเราอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำอันตรายใดๆ แก่ร่างกาย แต่หากภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอก็จะทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายอย่างในเด็ก, คนที่เป็นเบาหวาน, ภูมิคุ้มกันต่ำหรือกินยาที่กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก็จะทำให้เกิดภาวะของโรคนี้ได้

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เกิดบาดแผลตามร่างกายที่ทำให้เกิดรอยแยกบนผิวหนังที่เป็นช่องทางทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย รวมถึงโรคผิวหนังอย่างเช่น สะเก็ดเงิน, ผิวหนังอักเสบ, น้ำกัดเท้าและแผลพุพอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจรวมถึงสาเหตุอื่นๆ อย่างเช่น การติดเชื้อจากแมลงกัด, ติดเชื้อจากการผ่าตัด รวมถึงการฉีดสารเสพติดเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อจนทำให้เกิดโรคไฟลามทุ่งได้เช่นเดียวกัน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไฟลามทุ่งที่อันตรายกว่าที่คิด

โดยทั่วไปแล้ว โรคไฟลามทุ่งถือได้ว่าเป็นโรคผิวหนังที่สามารถรักษาให้หายขาดได้และหลายรายมีอาการไม่รุนแรง แต่ทั้งนี้ก็อาจจะมีโอกาสที่เชื้อจะลุกลามจนเกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะในคนที่ปล่อยทิ้งไว้ไม่มารับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก ทำให้เชื้อโรคลุกลามเข้ากระแสเลือดจนเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษที่ทำให้เสียชีวิต หรือในรายที่มีการติดเชื้อลุกลามรุนแรงจนแพร่กระจายไปถึงหัวใจ ทำให้เกิดภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบ, ลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและข้อจนทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ข้ออักเสบ ส่วนการติดเชื้อรุนแรงที่ผิวหนังก็จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบและเป็นหนองได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการควรรีบทำการรักษาเสียตั้งแต่เริ่มแรกก่อนที่จะเป็นมากและมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นตามมา

รักษาโรคไฟลามทุ่งอย่างไรจึงจะได้ผล

วิธีการรักษาโรคไฟลามทุ่งนั้น แพทย์จะวินิจฉัยอาการจากการตรวจร่างกายและซักประวัติ ในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อมาจากที่อื่นก็จะมีการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยการนำตัวอย่างของเหลวจากแผลไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ, ตรวจหาระดับ C-Reactive Protein ที่เป็นโปรตีนที่แสดงถึงภาวะอักเสบของร่างกาย รวมถึงการทำ MRI และ CT ในกรณีที่มีการอักเสบลึกลงไปถึงชั้นผิวหนัง

การรักษาโรคไฟลามทุ่งจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง โดยแพทย์จะให้กินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่จะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ ต้องกินยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ห้ามหยุดยาเอง หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการซ้ำ หากมีอาการปวดมากสามารถทำการประคบเย็นได้วันละ 4 ครั้งภายใน 48 ชั่วโมง จะทำให้ผื่นยุบตัวได้เร็วและหากมีไข้หรือปวดมากก็สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อช่วยบรรเทาอาการไข้ได้

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สมุนไพรช่วยในการรักษาผื่นผิวหนังที่อาจจะต้องทำการปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม อย่างเช่น เสลดพังพอนตัวผู้, เสลดพังพอนตัวเมีย, ก้างปลาเครือและบัวบก เป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้ให้ถูกวิธีและรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม

ส่วนคนที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด และหากมีเนื้อตายแพทย์จะทำการผ่าตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกบางส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเนื้อเน่าตายจนทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม

โรคไฟลามทุ่งเป็นโรคผิวหนังที่ทำให้เกิดภาวะไม่สุขสบาย มีอาการแสบร้อนและปวดบริเวณผิวที่เป็นผื่นและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างที่รุนแรงหากไม่รีบทำการรักษา ซึ่งเมื่อมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาโดยทันที